วันพุธที่ 27 สิงหาคม พ.ศ. 2557

ช้าง


สัตว์ป่าน่ารู้ ช้าง
ลักษณะทั่วไป
ช้างเป็นสัตว์บกที่มีขนาดใหญ่ที่สุดในโลก ลำตัวอ้วนใหญ่มีงวงยาว เพื่อช่วยในการหยิบฉวยสิ่งต่างๆ หนังของช้างค่อนข้างหนา มีสีเทา มีเส้นขนเล็กๆขึ้นอยู่ทั่วไปตามลำตัว ใบหูของช้างมีขนาดใหญ่ ช่วยทำหน้าที่พักโบกไปมาเพื่อระบายความร้อน ช้างมีงาทั้งตัวผู้และตัวเมีย แต่งาของช้างตัวเมียและงาของช้างตัวผู้บางตัวอาจมีงาสั้นๆ ที่ยื่นออกมาให้เห็นเพียงเล็กน้อยเรียกว่า “ขนาย” ช้างตัวผู้ที่มีงาจะถูกเรียกว่า “ช้างพลาย” ส่วนช้างตัวผู้ที่ไม่มีงาจะถูกเรียกว่า “ช้างสีดอ” และช้างตัวเมียจะถูกเรียกว่า “ช้างพัง”
ขนาด : ความยาวลำตัวและหัว 400 – 600 เซนติเมตร ความยาวหาง 100 -150 เซนติเมตร
ความสูง : 250 – 300 เซนติเมตร
น้ำหนัก : 3,500 – 5,000 กิโลกรัม
ขนาดอุ้งเท้า (cm.)
HB : 60-75; T : 20-25; E : 7.5-8.5; HF : 13-15.6
W : 8-9 kg   (Lekagul and Mcneely, 1988)
อุปนิสัยและอาหาร
ช้างมักอาศัยอยู่เป็นโขลง โขลงละ 1 ครอบครัว ในโขลงมักประกอบด้วยช้างตัวเมีย และช้างตัวผู้อายุน้อย ส่วนตัวผู้ที่โตเต็มวัยมักหากินตามลำพัง เรียกว่า “ช้างโทน” จะเข้าโขลงเฉพาะในช่วงฤดูผสมพันธุ์เท่านั้น จ่าโขลงมักเป็นตัวเมียที่มีอายุมาก ที่เรียกว่า “แม่แปรก” (อ่านว่าแม่ปะแหรก) เป็นผู้นำโขลงในการหากิน และหลบภัย เนื่องจากช้างที่มีอายุมากจะมีประสบการณ์ในเส้นทางอาหาร น้ำ และโป่ง ขณะมีการเคลื่อนย้ายโขลงลูกช้างจะถูกขนาบด้วยแม่และแม่รับเสมอ ส่วนตัวผู้จะเดินตามโขลงอยู่ห่างๆ ช้างมักยืนในร่มโบกหูไปมา ยามหลับจะโยกตัวช้าๆอย่างสม่ำเสมอ บางตัวอาจนอนตะแคงในช่วงเวลาสั้นๆ ช้างจะนอนในเวลากลางคืน ประมาณวันละ 4 ชั่วโมงเท่านั้น ช้างสามารถว่ายน้ำได้ ในอัตราเร็วประมาณ 1.6 กิโลเมตรต่อชั่วโมง และสามารถว่ายน้ำโดยที่เท้าไม่สัมผัสพื้นเลยได้ติดต่อกันนานกว่า 6 ชั่วโมง ช้างมักใช้โคลนหรือฝุ่นพ่นใส่ตัวเอง อาจเพื่อเป็นการป้องกันแมลงกัด โดยเฉพาะในฤดูฝน ช้างต้องการน้ำประมาณวันละ 200 ลิตร ในฤดูแล้งช้างสามารถหาน้ำกินโดยใช้เท้าและงวงขุดทรายท้องน้ำที่แห้งลงลึกประมาณ 50-100 เซนติเมตร ถ้าขุดลึก 30 เซนติเมตรแล้วทรายยังแห้งช้างจะเปลี่ยนที่ขุดใหม่ ช้างกินอาหารประมาณวันละมากกว่า 200 กิโลกรัม อาหารที่กิน ได้แก่ หญ้า ใบและต้นของกล้วยป่า หน่อไม้ ไผ่ ผลไม้และยอดไม้ โดยช้างมักจะหักกิ่งไม้จากยอดไม้ลงมากินและเหลือทิ้งไว้ ทำให้สัตว์อื่นๆ เช่น กวาง กระทิง วัวแดง ฯลฯ ช้างจะกินผลไม้ทุกชนิดที่หล่นตามพื้น หรืออาจใช้หัวดันต้นไม้ให้ลูกไม้ตกลงมา สัตว์กินพืชนั้นจะต้องการดินโป่งซึ่งประกอบด้วยโซเดียม แคลเซียม แมกนีเซียม และอื่นๆ ช้างก็เช่นกัน มักจะกินโป่งในช่วงที่ฝนตกเพราะดินอ่อนนุ่ม ในช่วงที่ฝนไม่ตก ช้างสามารถใช้งาขุดดินโป่ง ทำให้ดินโป่งร่วน ทำให้สัตว์อื่นสามารถเข้ามาอาศัยกินดินโป่งได้
การผสมพันธุ์
ช้างตัวผู้และตัวเมียที่โตเต็มวัยบางตัวที่มีอายุประมาณ 20-40 ปีจะมีช่วงการตกมัน ซึ่งเป็นช่วงที่ช้างมีร่างกายอ้วนท้วนสมบูรณ์ ช้างจะมีอาการหงุดหงิด ก้าวร้าว ก่อนเกิดอาการตกมัน ต่อมระหว่างตากับหูจะบวมขึ้นและมีน้ำมันไหลออกมา น้ำมันนี้มีกลิ่นฉุนเหม็นสาบรุนแรง ช้างตัวผู้มักมีการแข็งตัวของอวัยวะเพศ บางครั้งอาจมีน้ำเชื้อไหลออกมาด้วย 1-3 สัปดาห์หลังจากนั้นช้างจึงจะมีการก้าวร้าว เจ้าของช้างหรือควาญช้างมักลดปริมาณอาหารหรืองดอาหารเพื่อให้ช้างลดความอุดมสมบูณ์ของร่างกาย การตกมันมักจะเกิดขึ้นทุกปีในช่วงฤดูหนาว แต่ก็อาจเกิดช่วงฤดูร้อนได้ อาการจะคงอยู่ 2-3 สัปดาห์จึงสงบลง
                ตามปกติในรอบหนึ่งปีช้างจะผสมพันธุ์เฉพาะในช่วงฤดูหนาว โดยในช่วงฤดูหนาวช้างตัวเมียจะเป็นสัด (Heat) ส่วนช้างตัวผู้จะมีความรู้สึกทางเพศ ช้างตัวเมียที่เป็นสัดจะยอมให้ตัวผู้ขึ้นทับผสมพันธุ์ ช้างตัวเมียจะโตเต็มวัยพร้อมผสมพันธุ์และสิ้นสุดการสืบพันธุ์เมื่ออายุเท่าใดนั้นยังไม่มีผู้ศึกษาและบันทึกเป็นหลักฐานแน่นอน แต่มีการคาดคะเนว่าช้างตัวเมียจะโตเต็มวัยพร้อมผสมพันธุ์เมื่ออายุประมาณ 18-20 ปีขึ้นไป และสิ้นสุดความสามารถในการสืบพันธุ์เมื่ออายุประมาณ 40-50 ปีขึ้นไป ระยะการตั้งท้องนานประมาณ 19-21 เดือน ตามปกติช้างจะให้ลูกครั้งละ 1 ตัว (เชือก) การตั้งท้องแต่ละครั้งห่างกันอย่างน้อย 3 ปี และในช่วงชีวิตของช้างจะมีลูกได้เฉลี่ย 3-4 ตัว (เชือก) (Khan, 1969 ; Kondo, 1972 ; Lekagul and McNeely, 1977) จากการศึกษาในช้างเลี้ยงพบว่าพฤติกรรมการผสมพันธุ์ของช้างตัวผู้จะเกี้ยวพาราสีโดยเข้าไปคลอเคลียช้างตัวเมียที่เป็นสัด ใช้งวงดมและจับเต้านมและอวัยวะเพศของช้างตัวเมีย จากนั้นจึงขึ้นทับโดยใช้ 2 ขาหน้าขึ้นวางบนหลังช้างตัวเมียแล้วจึงสอดใส่อวัยวะเพศ การขึ้นทับสามารถทำได้ทุกเวลาทั้งเวลากลางวันและกลางคืนขึ้นอยู่กับโอกาสและความพอใจ ระยะเวลาในการผสมพันธุ์ตั้งแต่เกี้ยวพาราสีจนสอดใส่อวัยวะเพศได้สำเร็จประมาณ 20-40 นาที แต่การผสมพันธุ์ของช้างเกิดขึ้นไม่บ่อยนัก โอกาสที่จะเห็นการผสมพันธุ์ของช้างจึงมีน้อย ไม่น่าจะเนื่องจากความอายของช้างดังที่เข้าใจกัน ในขณะที่ช้างตั้งท้องนั้นท้องจะโป่งผิดปกติเพียงเล็กน้อย ดูเหมือนช้างอ้วนสมบูรณ์ขึ้นเท่านั้น การตั้งท้องของช้างอาจสังเกตได้จากอาการต่างๆ ดังนี้
  1. เต้านมคัดตึงผิดปกติ ยิ่งช้างท้องแก่อาจมีน้ำนมไหลซึมออกมาให้เห็น
  2. ถ้าเป็นช้างเลี้ยงมักจะเลี่ยงการทำงานหนัก และไม่ค่อยยอมหมอบตามคำสั่ง
  3. ช้างที่ท้องแก่มากจวนคลอดมักจะเดินแกว่งหางชี้ไปข้างหลังเป็นลักษณะครึ่งวงกลม เอ็นหน้าท้องระหว่างขาหน้าและโคนขาหลังจะหย่อนยานลง
                พฤติกรรมของช้างตัวเมียที่ตั้งท้องมักจะหาช้างตัวเมียที่สนิทกันมาช่วยดูแลเป็นพี่เลี้ยงในเวลาออกลูก เรียกว่า “ช้างแม่รับ” เมื่อช้างท้องแก่ก่อนคลอด 2-3 ชั่วโมง จะส่งเสียงร้องและมีน้ำคร่ำไหลออกจากอวัยวะสืบพันธุ์ ขณะคลอดลูกจะงอขาหลังลงทั้ง 2 ข้างเพื่อให้ลูกช้างตกลงสู่พื้นไม่สูงนัก การคลอดจะใช้เวลาประมาณ 2-3 นาที ลูกช้างที่คลอดออกมาใหม่ๆจะมีถุงบางใสหุ้มลำตัว ช้างแม่รับจะใช้เท้าหน้าและงวงฉีกถุงเยื่อหุ้มออกและป้องกันไม่ให้ลูกช้างเข้าไปหาแม่ช้าง อาจเนื่องจากแม่ช้างจะมีอาการเจ็บท้องรุนแรง ยังไม่ได้สติ อาจเผลอทำร้ายลูกได้ และช้างแม่รับจะช่วยแม่ช้างดูแลลูกช้างจนลูกช้างโตพอที่จะออกหากินเองได้
ลูกช้างแรกเกิดจะมีขนยาวปกคลุมทั่วร่างกาย งวงสั้น มีความยาวประมาณ 25-37.5 เซนติเมตร (10-15 นิ้ว) สูงประมาณ 75-90 เซนติเมตร (2.5-3 ฟุต) และมีน้ำหนักประมาณ 90-100 กิโลกรัม ลูกช้างจะกินนมแม่และอยู่กับแม่ตลอดเวลาจนกระทั่งอายุประมาณ 3 ปี
การกระจายพันธุ์
ช้างป่าเป็นสัตว์ที่มักอาศัยและหากินอยู่ไม่ไกลจากแหล่งน้ำ แหล่งน้ำจึงเป็นปัจจัยสำคัญที่กำหนดการกระจายพันธุ์ของช้างป่า ในช่วงที่มีไฟไหม้ป่าช้างอาจเข้าไปอาศัยอยู่ตามป่าที่มีความชื้น เช่น ป่าดิบแล้ง หรือ ป่าเบญจพรรณที่ค่อนข้างชื้น จากการศึกษาพบว่าช้างป่าในเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าห้วยขาแข้งอาศัยอยู่ในป่าเบญจพรรณ
เกือบตลอดทั้งปี คิดเป็น 46 %ของการใช้พื้นที่ป่าประเภทต่างๆ ในช่วงฤดูฝนช้างจะเข้าไปหากินในป่าเต็งรังด้วย เคยมีช้างป่าเข้ามาหากินในทางเดินศึกษาธรรมชาติเขาดินแดงบริเวณสำนักงานเขตฯและในลำห้วยแม่ดีน้อยบริเวณหน่วยพิทักษ์ป่าห้วยแม่ดี
ช้างเอเซียจำแนกได้ ชนิดย่อย (subspecies) ได้แก่
1. ช้างเอเซียพันธุ์ศรีลังกา (Elephas maximus maximus Linn) เป็นช้างที่มีอยู่ในป่าตามธรรมชาติเฉพาะในเกาะซีลอนหรือเกาะลังกา ซึ่งปัจจุบันเป็นประเทศศรีลังกาเท่านั้น มีขนาดใหญ่ที่สุดในบรรดาช้างเอเซียทั้งหมด ตัวผู้หรือช้างพลายส่วนใหญ่จะเป็นช้างสีดอ คือไม่มีงา มีแต่ขนายซึ่งเป็นงาขนาดเล็กโตประมาณเท่าข้อมือ (เส้นรอบวงประมาณ 15-20 เซนติเมตร) ยาวไม่พ้นปากหรืออาจยาวพ้นปากเพียงเล็กน้อย มีน้อยตัวที่มีงา ส่วนตัวเมียหรือช้างพังมีลักษณะเหมือนกับช้างเอเซียพันธุ์อื่นๆคือไม่มีงา มีแต่ขนายเท่านั้น
2. ช้างเอเซียพันธุ์อินเดีย (Elephas maximus indicus Cuvier) เป็นช้างที่อาศัยอยู่ในป่าตามธรรมชาติบนผืนแผ่นดินใหญ่ของทวีปเอเซีย ได้แก่ ประเทศเนปาล ภูฐาน อินเดีย พม่า ไทย ลาว เวียดนาม กัมพูชา แคว้นยูนนาน และมาเลเซีย สำหรับประเทศไทยพบกระจายอยู่ทั่วทุกภาคของประเทศ
3. ช้างเอเซียพันธุ์สุมาตรา (Elephas maximus sumatranus Temmick) เป็นช้างที่อาศัยอยู่เฉพาะในป่าตามธรรมชาติบนเกาะสุมาตรา ประเทศอินโดนีเซียเท่านั้น ขนาดร่างกายมักจะเล็กกว่าช้างเอเซียพันธุ์อินเดีย
                ในประเทศไทยเคยมีการค้นพบช้างแคระแต่ยังไม่มีการบันทึกว่าเป็นชนิดย่อยใด จากรายงานการค้นพบโดย Smyth (1898) พบในจังหวัดพัทลุง ช้างมีลักษณะสีผิวออกแดง สูงไม่เกิน 8 ฟุต หัวและเท้าเล็ก ไม่มีงา แต่ต่อมา Smith (1926) พบช้างแคระมีงา ในระยะ 200 เมตร บริเวณที่ Smyth เคยพบ และรายงานว่าช้างแคระมีการกระจายอยู่บริเวณเหนือทะเลสาบสงขลา ต่อมามีการเปลี่ยนแปลงพัฒนาพื้นที่เป็นนาข้าว ช้างแคระจึงสูญพันธุ์ไปจากพื้นที่

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น