วันอาทิตย์ที่ 31 สิงหาคม พ.ศ. 2557

นกกระจิบกระหม่อมแดง


สัตว์ป่าน่ารู้  นกกระจิบกระหม่อมแดง
ลักษณะทั่วไป
เป็นนกที่มีขนาดเล็กมาก (12 เซนติเมตร) ตัวเต็มวัยแตกต่างจากจากนกกระจิบหัวแดง โดยบริเวณแก้มและด้านล่างลำตัวสีขาวแกมสีเนื้อ แตกต่างจากนกกระจิบธรรมดา และนกกระจิบคอดำ โดยด้านบนลำตัวสีเทา กระหม่อมสีน้ำตาลแดงเข้ม และหางสีน้ำตาลแดง ตัวไม่เต็มวัยกระหม่อมสีน้ำตาลมีลายแต้มสีน้ำตาลแดงเข้ม หางสีน้ำตาลแกมดำ
อุปนิสัยและอาหาร
เป็นนกที่พบตามชายป่า ป่ารุ่น และที่โล่ง ตั้งแต่พื้นราบจนกระทั่งความสูง 400 เมตร จากระดับน้ำทะเล อุปนิสัยอื่นๆไม่แตกต่างจากนกกระจิบทั่วๆไป
การผสมพันธุ์
ไม่แตกต่างจากนกกระจิบคอดำ
สถานภาพ
นกกระจิบกระหม่อมแดง เป็นนกประจำถิ่นของไทย พบบ่อยและปริมาณปานกลาง พบเฉพาะในภาคใต้ ตั้งแต่คอคอดกระลงไป
กฎหมายจัดนกกระจิบกระหม่อมแดงเป็นสัตว์ป่าคุ้มครอง
ที่มา
หนังสือชุดนกในเมืองไทย เล่ม 5 โดย รศ. โอภาส ขอบเขตต์

บ่าง


สัตว์ป่าน่ารู้ บ่าง
ลักษณะทั่วไป
บ่างเป็นสัตว์ที่มีรูปร่างประหลาด เป็นสัตว์เลี้ยงลูกด้วยนมที่ร่อนได้ คล้ายกระรอกบิน หน้าตาคล้ายกระแต คนตะวันตกมองว่าหน้าตาเหมือนตัวลีเมอร์ในมาดาร์กัสกา จึงเรียกว่า flying lemur มีความยาวหัว-ลำตัว 34-42 เซนติเมตร หาง 22-27 เซนติเมตร หนัก 1-1.8 กิโลกรัม ตามลำตัวมีสีน้ำตาลเป็นหลัก มีแต้มสีขาวและลายเส้นเหมือนตาข่ายแผ่ทั่วลำตัวขาหน้าและขาหลัง สีสันกลมกลืนกับเปลือกไม้ และที่เป็นเอกลักษณ์ก็คือ มีหนังบางเชื่อมระหว่างขาหน้าและขาหลัง ขาหลังกับหาง ระหว่างขาหน้ากับคอ และระหว่างนิ้วทุกนิ้วอีกด้วย อยู่ในอันดับ Dermoptera แปลว่า ปีกหนัง สัตว์ในอันดับนี้บ่างมีเพียงสองชนิดเท่านั้น อีกชนิดหนึ่งคือบ่างฟิลิปินส์ อยู่ในประเทศฟิลิปินส์ ตัวเล็กกว่าและเบากว่าเล็กน้อย
อุปนิสัยและอาหาร
บ่างอาศัยอยู่บนต้นไม้เป็นหลัก ตอนกลางวันมักหลับพักผ่อนอยู่ในโพรงไม้หรือในช่อปาล์ม เมื่อพลบค่ำก็จะออกมาหากิน อาหารได้แก่ยอดอ่อนต้นไม้ ใบไม้ ดอกไม้ และผลไม้เนื้ออ่อน เมื่อต้องการย้ายจากต้นไม้ต้นหนึ่งไปยังอีกต้นหนึ่ง บ่างจะปีนขึ้นไปตามต้นไม้โดยใช้ขาหน้าและเล็บที่แหลมคมเกาะไว้แล้วยกขาหลังตามไปทั้งสองข้างพร้อมกัน เมื่อถึงจุดร่อนที่เหมาะสม จึงกระโจนออกไปพร้อมกางขาออก ผังผืดที่เชื่อมขาและหางจะขึงตึงจนตัวบ่าง
ดูเหมือนว่าว บ่างอาจปรับบิดตัวเล็กน้อยเพื่อปรับทิศทางการร่อนได้ บ่างมักมีต้นไม้ประจำที่ใช้ในการร่อน ในบางพื้นที่อาจมีบ่างหลายตัวใช้ต้นไม้บางต้นเป็นท่าปล่อยตัวร่วมกัน
การผสมพันธุ์
บ่างตั้งท้องนานราว 60 วัน ออกลูกคราวละตัว บางครั้งอาจมีสองตัว ในพื้นที่ที่อุดมสมบูรณ์ แม่บ่างอาจออกลูกมากกว่าหนึ่งครั้งต่อปี ลูกบ่างแรกเกิดมักมีการพัฒนาไม่มากนักคล้ายสัตว์ที่มีกระเป๋าหน้าท้อง แม่บ่างจะเลี้ยงลูกไว้โดยให้เกาะที่ท้อง เวลาเกาะอยู่กับต้นไม้ ผังผืดระหว่างขาจึงทำหน้าที่เหมือนเปลเลี้ยงลูกเป็นอย่างดี แม้ยามมีลูกอ่อน แม่บ่างก็ร่อนหาอาหารได้เหมือนกัน ลูกบ่างจะยึดเกาะขนที่หน้าท้องแม่ไว้แน่นจึงไม่ตกลงมา
การกระจายพันธุ์
บ่างอาศัยอยู่ในป่าเขตร้อนชื้นในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ รวมถึงเกาะชวาและบอร์เนียว บางพื้นที่พบว่าอาศัยในสวนยางพาราหรือสวนมะพร้าวได้ด้วย
สถานภาพปัจจุบัน
เป็นสัตว์ป่าคุ้มครอง ตามพระราชบัญญัติสงวนและคุ้มครองสัตว์ป่า พุทธศักราช 2535
ประโยชน์ทางเศรษฐกิจ
เลือดมีคนนิยมบริโภคด้วยความเชื่อว่าเป็นยาบำรุงกำลัง หนังสามารถใช้เป็นเครื่องประดับ

แมวดาว


สัตว์ป่าน่ารู้ แมวดาว
ลักษณะทั่วไป
มีขนาดเล็ก ขนสั้นและบาง ลำตัวสีน้ำตาลแกมเหลือง หลังและสีข้างมีจุดสีดำเข้ม มีเส้นสีน้ำตาลเข้ม 4 -5 เส้นพาดจากกระหม่อมมาขยายกว้างขึ้นที่ไหล่ แล้วกลายเป็นจุดบริเวณ ลำตัวและขา ลำตัวด้านล่างเป็นสีขาว รอบปากมีสีขาว หลังหูสีดำมีจุดขาวตรงกลาง หูค่อนข้างยาว หางยาวกว่าแมวป่าชนิดอื่น แต่สั้นกว่าแมวลายหินอ่อน
อุปนิสัยและอาหาร
หากินเวลากลางคืนทั้งบนดินและต้นไม้ ชอบนอนในโพรง อาจพบเห็นได้ในเวลากลางวันในบางครั้ง บางครั้งกระโจนจากต้นไม้เพื่อจับสัตว์กิน เป็นสัตว์ที่ว่ายน้ำเก่ง  แมวดาวกินนก หนู กระรอก กระแต จิ้งเหลน กิ้งก่า เป็ด ไก่ รวมทั้งงูด้วย
การผสมพันธุ์
แมวดาวเริ่มผสมพันธุ์ได้เมื่อมีอายุ 2 ปี ระยะตั้งท้องนาน 70 วัน ออกลูกครั้งละ 2-3 ตัว
การกระจายพันธุ์
มีถิ่นอาศัยอยู่ในสหภาพโซเวียต จีน ไต้หวัน อินโดจีน อินเดีย บังคลาเทศ พม่า มาเลเซีย อินโดนีเซีย และเกาะพาลาวัน ในประเทศไทยพบอยู่ตามป่าทั่วทุกภาค
สถานภาพปัจจุบัน
เป็นสัตว์ป่าคุ้มครอง ตามพระราชบัญญัติสงวนและคุ้มครองสัตว์ป่า พุทธศักราช 2535
CITES : Appendix II
ประโยชน์ทางเศรษฐกิจ
หนังเป็นเครื่องประดับ, เป็นสัตว์เลี้ยง

วันพุธที่ 27 สิงหาคม พ.ศ. 2557

เต่าเดือย, เต่าเขาสูง, เต่าขี้ผึ้ง, เต่าควะ


สัตว์ป่าน่ารู้ เต่าเดือย, เต่าเขาสูง, เต่าขี้ผึ้ง, เต่าควะ
ลักษณะทั่วไป
เป็นเต่าบกที่มีกระดองสวยงามชนิดหนึ่ง กระดองหลังมีสีสันหลากหลาย เช่น สีน้ำตาลเข้มถึงน้ำตาลแดง สีดำ สีเหลือง หรือสีส้ม เกล็ดแนวกลางหลังแบนอย่างเห็นได้ชัด แผ่นเกล็ดเหนือต้นคอขนาดใหญ่ ขากลมทู่คล้ายขาช้าง ขาหลังมีเดือยยาวปลายแหลม 1 คู่ ดูคล้ายขาขนาดเล็กที่ยื่นออกมาข้างหาง กระดองหลังยาวเต็มที่ 31 เซนติเมตร น้ำหนัก 2.5 กิโลกรัม
ถิ่นที่อยู่อาศัย
อาศัยตามพื้นป่าบนภูเขาสูง ในป่าดิบเขา ที่มีความสูงมากกว่า 800 เมตร กินอาหารจำพวกพืช หน่อไม้ และเห็ด เป็นอาหารหลัก มักหลบซ่อนตัวตามใต้ใบไม้ หากินในเวลาฝนตก วางไข่ครั้งละ 12 ฟอง
สถานภาพ
เป็นสัตว์ป่าคุ้มครอง ตามพระราชบัญญัติสงวนและคุ้มครองสัตว์ป่า พ.ศ. 2535 IUCN จัดอยู่ในสถานภาพที่มีแนวโน้มใกล้สูญพันธุ์ (Vulnerable) และ CITES จัดให้อยู่ในบัญชี 2 (Appendix II)
การแพร่กระจ่าย
พบในประเทศจีน พม่า ไทย ลาว กัมพูชา เวียดนาม และมาเลเซีย ในประเทศไทยพบตามเขาสูงในภาคเหนือ ตะวันออกเฉียงเหนือตอนบน ตะวันตก และภาคใต้

ช้าง


สัตว์ป่าน่ารู้ ช้าง
ลักษณะทั่วไป
ช้างเป็นสัตว์บกที่มีขนาดใหญ่ที่สุดในโลก ลำตัวอ้วนใหญ่มีงวงยาว เพื่อช่วยในการหยิบฉวยสิ่งต่างๆ หนังของช้างค่อนข้างหนา มีสีเทา มีเส้นขนเล็กๆขึ้นอยู่ทั่วไปตามลำตัว ใบหูของช้างมีขนาดใหญ่ ช่วยทำหน้าที่พักโบกไปมาเพื่อระบายความร้อน ช้างมีงาทั้งตัวผู้และตัวเมีย แต่งาของช้างตัวเมียและงาของช้างตัวผู้บางตัวอาจมีงาสั้นๆ ที่ยื่นออกมาให้เห็นเพียงเล็กน้อยเรียกว่า “ขนาย” ช้างตัวผู้ที่มีงาจะถูกเรียกว่า “ช้างพลาย” ส่วนช้างตัวผู้ที่ไม่มีงาจะถูกเรียกว่า “ช้างสีดอ” และช้างตัวเมียจะถูกเรียกว่า “ช้างพัง”
ขนาด : ความยาวลำตัวและหัว 400 – 600 เซนติเมตร ความยาวหาง 100 -150 เซนติเมตร
ความสูง : 250 – 300 เซนติเมตร
น้ำหนัก : 3,500 – 5,000 กิโลกรัม
ขนาดอุ้งเท้า (cm.)
HB : 60-75; T : 20-25; E : 7.5-8.5; HF : 13-15.6
W : 8-9 kg   (Lekagul and Mcneely, 1988)
อุปนิสัยและอาหาร
ช้างมักอาศัยอยู่เป็นโขลง โขลงละ 1 ครอบครัว ในโขลงมักประกอบด้วยช้างตัวเมีย และช้างตัวผู้อายุน้อย ส่วนตัวผู้ที่โตเต็มวัยมักหากินตามลำพัง เรียกว่า “ช้างโทน” จะเข้าโขลงเฉพาะในช่วงฤดูผสมพันธุ์เท่านั้น จ่าโขลงมักเป็นตัวเมียที่มีอายุมาก ที่เรียกว่า “แม่แปรก” (อ่านว่าแม่ปะแหรก) เป็นผู้นำโขลงในการหากิน และหลบภัย เนื่องจากช้างที่มีอายุมากจะมีประสบการณ์ในเส้นทางอาหาร น้ำ และโป่ง ขณะมีการเคลื่อนย้ายโขลงลูกช้างจะถูกขนาบด้วยแม่และแม่รับเสมอ ส่วนตัวผู้จะเดินตามโขลงอยู่ห่างๆ ช้างมักยืนในร่มโบกหูไปมา ยามหลับจะโยกตัวช้าๆอย่างสม่ำเสมอ บางตัวอาจนอนตะแคงในช่วงเวลาสั้นๆ ช้างจะนอนในเวลากลางคืน ประมาณวันละ 4 ชั่วโมงเท่านั้น ช้างสามารถว่ายน้ำได้ ในอัตราเร็วประมาณ 1.6 กิโลเมตรต่อชั่วโมง และสามารถว่ายน้ำโดยที่เท้าไม่สัมผัสพื้นเลยได้ติดต่อกันนานกว่า 6 ชั่วโมง ช้างมักใช้โคลนหรือฝุ่นพ่นใส่ตัวเอง อาจเพื่อเป็นการป้องกันแมลงกัด โดยเฉพาะในฤดูฝน ช้างต้องการน้ำประมาณวันละ 200 ลิตร ในฤดูแล้งช้างสามารถหาน้ำกินโดยใช้เท้าและงวงขุดทรายท้องน้ำที่แห้งลงลึกประมาณ 50-100 เซนติเมตร ถ้าขุดลึก 30 เซนติเมตรแล้วทรายยังแห้งช้างจะเปลี่ยนที่ขุดใหม่ ช้างกินอาหารประมาณวันละมากกว่า 200 กิโลกรัม อาหารที่กิน ได้แก่ หญ้า ใบและต้นของกล้วยป่า หน่อไม้ ไผ่ ผลไม้และยอดไม้ โดยช้างมักจะหักกิ่งไม้จากยอดไม้ลงมากินและเหลือทิ้งไว้ ทำให้สัตว์อื่นๆ เช่น กวาง กระทิง วัวแดง ฯลฯ ช้างจะกินผลไม้ทุกชนิดที่หล่นตามพื้น หรืออาจใช้หัวดันต้นไม้ให้ลูกไม้ตกลงมา สัตว์กินพืชนั้นจะต้องการดินโป่งซึ่งประกอบด้วยโซเดียม แคลเซียม แมกนีเซียม และอื่นๆ ช้างก็เช่นกัน มักจะกินโป่งในช่วงที่ฝนตกเพราะดินอ่อนนุ่ม ในช่วงที่ฝนไม่ตก ช้างสามารถใช้งาขุดดินโป่ง ทำให้ดินโป่งร่วน ทำให้สัตว์อื่นสามารถเข้ามาอาศัยกินดินโป่งได้
การผสมพันธุ์
ช้างตัวผู้และตัวเมียที่โตเต็มวัยบางตัวที่มีอายุประมาณ 20-40 ปีจะมีช่วงการตกมัน ซึ่งเป็นช่วงที่ช้างมีร่างกายอ้วนท้วนสมบูรณ์ ช้างจะมีอาการหงุดหงิด ก้าวร้าว ก่อนเกิดอาการตกมัน ต่อมระหว่างตากับหูจะบวมขึ้นและมีน้ำมันไหลออกมา น้ำมันนี้มีกลิ่นฉุนเหม็นสาบรุนแรง ช้างตัวผู้มักมีการแข็งตัวของอวัยวะเพศ บางครั้งอาจมีน้ำเชื้อไหลออกมาด้วย 1-3 สัปดาห์หลังจากนั้นช้างจึงจะมีการก้าวร้าว เจ้าของช้างหรือควาญช้างมักลดปริมาณอาหารหรืองดอาหารเพื่อให้ช้างลดความอุดมสมบูณ์ของร่างกาย การตกมันมักจะเกิดขึ้นทุกปีในช่วงฤดูหนาว แต่ก็อาจเกิดช่วงฤดูร้อนได้ อาการจะคงอยู่ 2-3 สัปดาห์จึงสงบลง
                ตามปกติในรอบหนึ่งปีช้างจะผสมพันธุ์เฉพาะในช่วงฤดูหนาว โดยในช่วงฤดูหนาวช้างตัวเมียจะเป็นสัด (Heat) ส่วนช้างตัวผู้จะมีความรู้สึกทางเพศ ช้างตัวเมียที่เป็นสัดจะยอมให้ตัวผู้ขึ้นทับผสมพันธุ์ ช้างตัวเมียจะโตเต็มวัยพร้อมผสมพันธุ์และสิ้นสุดการสืบพันธุ์เมื่ออายุเท่าใดนั้นยังไม่มีผู้ศึกษาและบันทึกเป็นหลักฐานแน่นอน แต่มีการคาดคะเนว่าช้างตัวเมียจะโตเต็มวัยพร้อมผสมพันธุ์เมื่ออายุประมาณ 18-20 ปีขึ้นไป และสิ้นสุดความสามารถในการสืบพันธุ์เมื่ออายุประมาณ 40-50 ปีขึ้นไป ระยะการตั้งท้องนานประมาณ 19-21 เดือน ตามปกติช้างจะให้ลูกครั้งละ 1 ตัว (เชือก) การตั้งท้องแต่ละครั้งห่างกันอย่างน้อย 3 ปี และในช่วงชีวิตของช้างจะมีลูกได้เฉลี่ย 3-4 ตัว (เชือก) (Khan, 1969 ; Kondo, 1972 ; Lekagul and McNeely, 1977) จากการศึกษาในช้างเลี้ยงพบว่าพฤติกรรมการผสมพันธุ์ของช้างตัวผู้จะเกี้ยวพาราสีโดยเข้าไปคลอเคลียช้างตัวเมียที่เป็นสัด ใช้งวงดมและจับเต้านมและอวัยวะเพศของช้างตัวเมีย จากนั้นจึงขึ้นทับโดยใช้ 2 ขาหน้าขึ้นวางบนหลังช้างตัวเมียแล้วจึงสอดใส่อวัยวะเพศ การขึ้นทับสามารถทำได้ทุกเวลาทั้งเวลากลางวันและกลางคืนขึ้นอยู่กับโอกาสและความพอใจ ระยะเวลาในการผสมพันธุ์ตั้งแต่เกี้ยวพาราสีจนสอดใส่อวัยวะเพศได้สำเร็จประมาณ 20-40 นาที แต่การผสมพันธุ์ของช้างเกิดขึ้นไม่บ่อยนัก โอกาสที่จะเห็นการผสมพันธุ์ของช้างจึงมีน้อย ไม่น่าจะเนื่องจากความอายของช้างดังที่เข้าใจกัน ในขณะที่ช้างตั้งท้องนั้นท้องจะโป่งผิดปกติเพียงเล็กน้อย ดูเหมือนช้างอ้วนสมบูรณ์ขึ้นเท่านั้น การตั้งท้องของช้างอาจสังเกตได้จากอาการต่างๆ ดังนี้
  1. เต้านมคัดตึงผิดปกติ ยิ่งช้างท้องแก่อาจมีน้ำนมไหลซึมออกมาให้เห็น
  2. ถ้าเป็นช้างเลี้ยงมักจะเลี่ยงการทำงานหนัก และไม่ค่อยยอมหมอบตามคำสั่ง
  3. ช้างที่ท้องแก่มากจวนคลอดมักจะเดินแกว่งหางชี้ไปข้างหลังเป็นลักษณะครึ่งวงกลม เอ็นหน้าท้องระหว่างขาหน้าและโคนขาหลังจะหย่อนยานลง
                พฤติกรรมของช้างตัวเมียที่ตั้งท้องมักจะหาช้างตัวเมียที่สนิทกันมาช่วยดูแลเป็นพี่เลี้ยงในเวลาออกลูก เรียกว่า “ช้างแม่รับ” เมื่อช้างท้องแก่ก่อนคลอด 2-3 ชั่วโมง จะส่งเสียงร้องและมีน้ำคร่ำไหลออกจากอวัยวะสืบพันธุ์ ขณะคลอดลูกจะงอขาหลังลงทั้ง 2 ข้างเพื่อให้ลูกช้างตกลงสู่พื้นไม่สูงนัก การคลอดจะใช้เวลาประมาณ 2-3 นาที ลูกช้างที่คลอดออกมาใหม่ๆจะมีถุงบางใสหุ้มลำตัว ช้างแม่รับจะใช้เท้าหน้าและงวงฉีกถุงเยื่อหุ้มออกและป้องกันไม่ให้ลูกช้างเข้าไปหาแม่ช้าง อาจเนื่องจากแม่ช้างจะมีอาการเจ็บท้องรุนแรง ยังไม่ได้สติ อาจเผลอทำร้ายลูกได้ และช้างแม่รับจะช่วยแม่ช้างดูแลลูกช้างจนลูกช้างโตพอที่จะออกหากินเองได้
ลูกช้างแรกเกิดจะมีขนยาวปกคลุมทั่วร่างกาย งวงสั้น มีความยาวประมาณ 25-37.5 เซนติเมตร (10-15 นิ้ว) สูงประมาณ 75-90 เซนติเมตร (2.5-3 ฟุต) และมีน้ำหนักประมาณ 90-100 กิโลกรัม ลูกช้างจะกินนมแม่และอยู่กับแม่ตลอดเวลาจนกระทั่งอายุประมาณ 3 ปี
การกระจายพันธุ์
ช้างป่าเป็นสัตว์ที่มักอาศัยและหากินอยู่ไม่ไกลจากแหล่งน้ำ แหล่งน้ำจึงเป็นปัจจัยสำคัญที่กำหนดการกระจายพันธุ์ของช้างป่า ในช่วงที่มีไฟไหม้ป่าช้างอาจเข้าไปอาศัยอยู่ตามป่าที่มีความชื้น เช่น ป่าดิบแล้ง หรือ ป่าเบญจพรรณที่ค่อนข้างชื้น จากการศึกษาพบว่าช้างป่าในเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าห้วยขาแข้งอาศัยอยู่ในป่าเบญจพรรณ
เกือบตลอดทั้งปี คิดเป็น 46 %ของการใช้พื้นที่ป่าประเภทต่างๆ ในช่วงฤดูฝนช้างจะเข้าไปหากินในป่าเต็งรังด้วย เคยมีช้างป่าเข้ามาหากินในทางเดินศึกษาธรรมชาติเขาดินแดงบริเวณสำนักงานเขตฯและในลำห้วยแม่ดีน้อยบริเวณหน่วยพิทักษ์ป่าห้วยแม่ดี
ช้างเอเซียจำแนกได้ ชนิดย่อย (subspecies) ได้แก่
1. ช้างเอเซียพันธุ์ศรีลังกา (Elephas maximus maximus Linn) เป็นช้างที่มีอยู่ในป่าตามธรรมชาติเฉพาะในเกาะซีลอนหรือเกาะลังกา ซึ่งปัจจุบันเป็นประเทศศรีลังกาเท่านั้น มีขนาดใหญ่ที่สุดในบรรดาช้างเอเซียทั้งหมด ตัวผู้หรือช้างพลายส่วนใหญ่จะเป็นช้างสีดอ คือไม่มีงา มีแต่ขนายซึ่งเป็นงาขนาดเล็กโตประมาณเท่าข้อมือ (เส้นรอบวงประมาณ 15-20 เซนติเมตร) ยาวไม่พ้นปากหรืออาจยาวพ้นปากเพียงเล็กน้อย มีน้อยตัวที่มีงา ส่วนตัวเมียหรือช้างพังมีลักษณะเหมือนกับช้างเอเซียพันธุ์อื่นๆคือไม่มีงา มีแต่ขนายเท่านั้น
2. ช้างเอเซียพันธุ์อินเดีย (Elephas maximus indicus Cuvier) เป็นช้างที่อาศัยอยู่ในป่าตามธรรมชาติบนผืนแผ่นดินใหญ่ของทวีปเอเซีย ได้แก่ ประเทศเนปาล ภูฐาน อินเดีย พม่า ไทย ลาว เวียดนาม กัมพูชา แคว้นยูนนาน และมาเลเซีย สำหรับประเทศไทยพบกระจายอยู่ทั่วทุกภาคของประเทศ
3. ช้างเอเซียพันธุ์สุมาตรา (Elephas maximus sumatranus Temmick) เป็นช้างที่อาศัยอยู่เฉพาะในป่าตามธรรมชาติบนเกาะสุมาตรา ประเทศอินโดนีเซียเท่านั้น ขนาดร่างกายมักจะเล็กกว่าช้างเอเซียพันธุ์อินเดีย
                ในประเทศไทยเคยมีการค้นพบช้างแคระแต่ยังไม่มีการบันทึกว่าเป็นชนิดย่อยใด จากรายงานการค้นพบโดย Smyth (1898) พบในจังหวัดพัทลุง ช้างมีลักษณะสีผิวออกแดง สูงไม่เกิน 8 ฟุต หัวและเท้าเล็ก ไม่มีงา แต่ต่อมา Smith (1926) พบช้างแคระมีงา ในระยะ 200 เมตร บริเวณที่ Smyth เคยพบ และรายงานว่าช้างแคระมีการกระจายอยู่บริเวณเหนือทะเลสาบสงขลา ต่อมามีการเปลี่ยนแปลงพัฒนาพื้นที่เป็นนาข้าว ช้างแคระจึงสูญพันธุ์ไปจากพื้นที่

จระเข้น้ำจืด


สัตว์ป่าน่ารู้ จระเข้น้ำจืด
ลักษณะทั่วไป
จระเข้น้ำจืดตัวผู้มีขนาดเล็กกว่าตัวเมีย ซึ่งยาวประมาณ 12 ฟุต แต่ตัวผู้มีหางยาวกว่าตัวเมีย และมักมีจำนวนเกล็ดที่ห่างมากกว่า จระเข้น้ำจืดหัวทู่สั้นกว่าจระเข้น้ำเค็ม มีเกล็ดท้ายทอย 4 เกล็ดเรียงให้เห็นชัด เท้าหลังมีพังผืดเล็กน้อย หางจระเข้มีกำลังมากใช้โบกพัดไปมาช่วยในการว่ายน้ำ หรือเป็นอาวุธ สามารถฟาดหางทำให้คนหรือสัตว์ได้รับอันตรายได้ ปกติไม่ได้ใช้ขาในการว่ายน้ำ
อุปนิสัยและอาหาร
ชอบอยู่ตัวเดียว ตามแหล่งน้ำนิ่ง มีความลึกไม่เกิน 5 ฟุต และมีที่ร่ม ช่วงอากาศร้อนจะแช่ตัวในน้ำ ถ้าอากาศหนาวจะขึ้นมาผึ่งแดดบนบกในตอนกลางวันกินปลาเป็นอาหาร ถ้าอาหารมีขนาดใหญ่มันจะคาบอาหารแล้วเหวี่ยงไปมาทำให้อาหารขาดออกเป็นชิ้น ๆ อาหารจะถูกย่อยอย่างช้า ๆ ทำให้ไม่ต้องกินอาหารประมาณ 15-30 วัน จึงกินอีกครั้งหนึ่ง
การผสมพันธุ์
ปกติจระเข้จะมีการผสมพันธุ์ในฤดูหนาวราวเดือนธันวาคม-มกราคม จระเข้ตัวผู้จะส่งสัญญาณให้ตัวเมียรับรู้โดยการงับน้ำให้เกิดเสียงดัง เมื่อตัวเมียยินยอม ตัวผู้จะขึ้นไปขี่หลังพร้อมกับใช้หางกดรัดไม่ให้ตัวเมียดิ้น ใช้เวลาประมาณ 10-15 นาที แต่ถ้าในระหว่างนั้นมีเสียงดังหรือมีเหตุการณ์อื่นรบกวนให้ตกใจมันจะหยุดทันที
สถานภาพ
สัตว์ป่าคุ้มครอง ตามพระราชบัญญัติสงวนและคุ้มครองสัตว์ป่า พุทธศักราช 2535
ที่มา
หนังสือพืชและสัตว์ที่ใกล้จะสูญพันธุ์ในประเทศไทย โดย สถาบันวิจัยวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งประเทศไทย