วันอาทิตย์ที่ 31 สิงหาคม พ.ศ. 2557

นกกระจิบกระหม่อมแดง


สัตว์ป่าน่ารู้  นกกระจิบกระหม่อมแดง
ลักษณะทั่วไป
เป็นนกที่มีขนาดเล็กมาก (12 เซนติเมตร) ตัวเต็มวัยแตกต่างจากจากนกกระจิบหัวแดง โดยบริเวณแก้มและด้านล่างลำตัวสีขาวแกมสีเนื้อ แตกต่างจากนกกระจิบธรรมดา และนกกระจิบคอดำ โดยด้านบนลำตัวสีเทา กระหม่อมสีน้ำตาลแดงเข้ม และหางสีน้ำตาลแดง ตัวไม่เต็มวัยกระหม่อมสีน้ำตาลมีลายแต้มสีน้ำตาลแดงเข้ม หางสีน้ำตาลแกมดำ
อุปนิสัยและอาหาร
เป็นนกที่พบตามชายป่า ป่ารุ่น และที่โล่ง ตั้งแต่พื้นราบจนกระทั่งความสูง 400 เมตร จากระดับน้ำทะเล อุปนิสัยอื่นๆไม่แตกต่างจากนกกระจิบทั่วๆไป
การผสมพันธุ์
ไม่แตกต่างจากนกกระจิบคอดำ
สถานภาพ
นกกระจิบกระหม่อมแดง เป็นนกประจำถิ่นของไทย พบบ่อยและปริมาณปานกลาง พบเฉพาะในภาคใต้ ตั้งแต่คอคอดกระลงไป
กฎหมายจัดนกกระจิบกระหม่อมแดงเป็นสัตว์ป่าคุ้มครอง
ที่มา
หนังสือชุดนกในเมืองไทย เล่ม 5 โดย รศ. โอภาส ขอบเขตต์

บ่าง


สัตว์ป่าน่ารู้ บ่าง
ลักษณะทั่วไป
บ่างเป็นสัตว์ที่มีรูปร่างประหลาด เป็นสัตว์เลี้ยงลูกด้วยนมที่ร่อนได้ คล้ายกระรอกบิน หน้าตาคล้ายกระแต คนตะวันตกมองว่าหน้าตาเหมือนตัวลีเมอร์ในมาดาร์กัสกา จึงเรียกว่า flying lemur มีความยาวหัว-ลำตัว 34-42 เซนติเมตร หาง 22-27 เซนติเมตร หนัก 1-1.8 กิโลกรัม ตามลำตัวมีสีน้ำตาลเป็นหลัก มีแต้มสีขาวและลายเส้นเหมือนตาข่ายแผ่ทั่วลำตัวขาหน้าและขาหลัง สีสันกลมกลืนกับเปลือกไม้ และที่เป็นเอกลักษณ์ก็คือ มีหนังบางเชื่อมระหว่างขาหน้าและขาหลัง ขาหลังกับหาง ระหว่างขาหน้ากับคอ และระหว่างนิ้วทุกนิ้วอีกด้วย อยู่ในอันดับ Dermoptera แปลว่า ปีกหนัง สัตว์ในอันดับนี้บ่างมีเพียงสองชนิดเท่านั้น อีกชนิดหนึ่งคือบ่างฟิลิปินส์ อยู่ในประเทศฟิลิปินส์ ตัวเล็กกว่าและเบากว่าเล็กน้อย
อุปนิสัยและอาหาร
บ่างอาศัยอยู่บนต้นไม้เป็นหลัก ตอนกลางวันมักหลับพักผ่อนอยู่ในโพรงไม้หรือในช่อปาล์ม เมื่อพลบค่ำก็จะออกมาหากิน อาหารได้แก่ยอดอ่อนต้นไม้ ใบไม้ ดอกไม้ และผลไม้เนื้ออ่อน เมื่อต้องการย้ายจากต้นไม้ต้นหนึ่งไปยังอีกต้นหนึ่ง บ่างจะปีนขึ้นไปตามต้นไม้โดยใช้ขาหน้าและเล็บที่แหลมคมเกาะไว้แล้วยกขาหลังตามไปทั้งสองข้างพร้อมกัน เมื่อถึงจุดร่อนที่เหมาะสม จึงกระโจนออกไปพร้อมกางขาออก ผังผืดที่เชื่อมขาและหางจะขึงตึงจนตัวบ่าง
ดูเหมือนว่าว บ่างอาจปรับบิดตัวเล็กน้อยเพื่อปรับทิศทางการร่อนได้ บ่างมักมีต้นไม้ประจำที่ใช้ในการร่อน ในบางพื้นที่อาจมีบ่างหลายตัวใช้ต้นไม้บางต้นเป็นท่าปล่อยตัวร่วมกัน
การผสมพันธุ์
บ่างตั้งท้องนานราว 60 วัน ออกลูกคราวละตัว บางครั้งอาจมีสองตัว ในพื้นที่ที่อุดมสมบูรณ์ แม่บ่างอาจออกลูกมากกว่าหนึ่งครั้งต่อปี ลูกบ่างแรกเกิดมักมีการพัฒนาไม่มากนักคล้ายสัตว์ที่มีกระเป๋าหน้าท้อง แม่บ่างจะเลี้ยงลูกไว้โดยให้เกาะที่ท้อง เวลาเกาะอยู่กับต้นไม้ ผังผืดระหว่างขาจึงทำหน้าที่เหมือนเปลเลี้ยงลูกเป็นอย่างดี แม้ยามมีลูกอ่อน แม่บ่างก็ร่อนหาอาหารได้เหมือนกัน ลูกบ่างจะยึดเกาะขนที่หน้าท้องแม่ไว้แน่นจึงไม่ตกลงมา
การกระจายพันธุ์
บ่างอาศัยอยู่ในป่าเขตร้อนชื้นในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ รวมถึงเกาะชวาและบอร์เนียว บางพื้นที่พบว่าอาศัยในสวนยางพาราหรือสวนมะพร้าวได้ด้วย
สถานภาพปัจจุบัน
เป็นสัตว์ป่าคุ้มครอง ตามพระราชบัญญัติสงวนและคุ้มครองสัตว์ป่า พุทธศักราช 2535
ประโยชน์ทางเศรษฐกิจ
เลือดมีคนนิยมบริโภคด้วยความเชื่อว่าเป็นยาบำรุงกำลัง หนังสามารถใช้เป็นเครื่องประดับ

แมวดาว


สัตว์ป่าน่ารู้ แมวดาว
ลักษณะทั่วไป
มีขนาดเล็ก ขนสั้นและบาง ลำตัวสีน้ำตาลแกมเหลือง หลังและสีข้างมีจุดสีดำเข้ม มีเส้นสีน้ำตาลเข้ม 4 -5 เส้นพาดจากกระหม่อมมาขยายกว้างขึ้นที่ไหล่ แล้วกลายเป็นจุดบริเวณ ลำตัวและขา ลำตัวด้านล่างเป็นสีขาว รอบปากมีสีขาว หลังหูสีดำมีจุดขาวตรงกลาง หูค่อนข้างยาว หางยาวกว่าแมวป่าชนิดอื่น แต่สั้นกว่าแมวลายหินอ่อน
อุปนิสัยและอาหาร
หากินเวลากลางคืนทั้งบนดินและต้นไม้ ชอบนอนในโพรง อาจพบเห็นได้ในเวลากลางวันในบางครั้ง บางครั้งกระโจนจากต้นไม้เพื่อจับสัตว์กิน เป็นสัตว์ที่ว่ายน้ำเก่ง  แมวดาวกินนก หนู กระรอก กระแต จิ้งเหลน กิ้งก่า เป็ด ไก่ รวมทั้งงูด้วย
การผสมพันธุ์
แมวดาวเริ่มผสมพันธุ์ได้เมื่อมีอายุ 2 ปี ระยะตั้งท้องนาน 70 วัน ออกลูกครั้งละ 2-3 ตัว
การกระจายพันธุ์
มีถิ่นอาศัยอยู่ในสหภาพโซเวียต จีน ไต้หวัน อินโดจีน อินเดีย บังคลาเทศ พม่า มาเลเซีย อินโดนีเซีย และเกาะพาลาวัน ในประเทศไทยพบอยู่ตามป่าทั่วทุกภาค
สถานภาพปัจจุบัน
เป็นสัตว์ป่าคุ้มครอง ตามพระราชบัญญัติสงวนและคุ้มครองสัตว์ป่า พุทธศักราช 2535
CITES : Appendix II
ประโยชน์ทางเศรษฐกิจ
หนังเป็นเครื่องประดับ, เป็นสัตว์เลี้ยง

วันพุธที่ 27 สิงหาคม พ.ศ. 2557

เต่าเดือย, เต่าเขาสูง, เต่าขี้ผึ้ง, เต่าควะ


สัตว์ป่าน่ารู้ เต่าเดือย, เต่าเขาสูง, เต่าขี้ผึ้ง, เต่าควะ
ลักษณะทั่วไป
เป็นเต่าบกที่มีกระดองสวยงามชนิดหนึ่ง กระดองหลังมีสีสันหลากหลาย เช่น สีน้ำตาลเข้มถึงน้ำตาลแดง สีดำ สีเหลือง หรือสีส้ม เกล็ดแนวกลางหลังแบนอย่างเห็นได้ชัด แผ่นเกล็ดเหนือต้นคอขนาดใหญ่ ขากลมทู่คล้ายขาช้าง ขาหลังมีเดือยยาวปลายแหลม 1 คู่ ดูคล้ายขาขนาดเล็กที่ยื่นออกมาข้างหาง กระดองหลังยาวเต็มที่ 31 เซนติเมตร น้ำหนัก 2.5 กิโลกรัม
ถิ่นที่อยู่อาศัย
อาศัยตามพื้นป่าบนภูเขาสูง ในป่าดิบเขา ที่มีความสูงมากกว่า 800 เมตร กินอาหารจำพวกพืช หน่อไม้ และเห็ด เป็นอาหารหลัก มักหลบซ่อนตัวตามใต้ใบไม้ หากินในเวลาฝนตก วางไข่ครั้งละ 12 ฟอง
สถานภาพ
เป็นสัตว์ป่าคุ้มครอง ตามพระราชบัญญัติสงวนและคุ้มครองสัตว์ป่า พ.ศ. 2535 IUCN จัดอยู่ในสถานภาพที่มีแนวโน้มใกล้สูญพันธุ์ (Vulnerable) และ CITES จัดให้อยู่ในบัญชี 2 (Appendix II)
การแพร่กระจ่าย
พบในประเทศจีน พม่า ไทย ลาว กัมพูชา เวียดนาม และมาเลเซีย ในประเทศไทยพบตามเขาสูงในภาคเหนือ ตะวันออกเฉียงเหนือตอนบน ตะวันตก และภาคใต้

ช้าง


สัตว์ป่าน่ารู้ ช้าง
ลักษณะทั่วไป
ช้างเป็นสัตว์บกที่มีขนาดใหญ่ที่สุดในโลก ลำตัวอ้วนใหญ่มีงวงยาว เพื่อช่วยในการหยิบฉวยสิ่งต่างๆ หนังของช้างค่อนข้างหนา มีสีเทา มีเส้นขนเล็กๆขึ้นอยู่ทั่วไปตามลำตัว ใบหูของช้างมีขนาดใหญ่ ช่วยทำหน้าที่พักโบกไปมาเพื่อระบายความร้อน ช้างมีงาทั้งตัวผู้และตัวเมีย แต่งาของช้างตัวเมียและงาของช้างตัวผู้บางตัวอาจมีงาสั้นๆ ที่ยื่นออกมาให้เห็นเพียงเล็กน้อยเรียกว่า “ขนาย” ช้างตัวผู้ที่มีงาจะถูกเรียกว่า “ช้างพลาย” ส่วนช้างตัวผู้ที่ไม่มีงาจะถูกเรียกว่า “ช้างสีดอ” และช้างตัวเมียจะถูกเรียกว่า “ช้างพัง”
ขนาด : ความยาวลำตัวและหัว 400 – 600 เซนติเมตร ความยาวหาง 100 -150 เซนติเมตร
ความสูง : 250 – 300 เซนติเมตร
น้ำหนัก : 3,500 – 5,000 กิโลกรัม
ขนาดอุ้งเท้า (cm.)
HB : 60-75; T : 20-25; E : 7.5-8.5; HF : 13-15.6
W : 8-9 kg   (Lekagul and Mcneely, 1988)
อุปนิสัยและอาหาร
ช้างมักอาศัยอยู่เป็นโขลง โขลงละ 1 ครอบครัว ในโขลงมักประกอบด้วยช้างตัวเมีย และช้างตัวผู้อายุน้อย ส่วนตัวผู้ที่โตเต็มวัยมักหากินตามลำพัง เรียกว่า “ช้างโทน” จะเข้าโขลงเฉพาะในช่วงฤดูผสมพันธุ์เท่านั้น จ่าโขลงมักเป็นตัวเมียที่มีอายุมาก ที่เรียกว่า “แม่แปรก” (อ่านว่าแม่ปะแหรก) เป็นผู้นำโขลงในการหากิน และหลบภัย เนื่องจากช้างที่มีอายุมากจะมีประสบการณ์ในเส้นทางอาหาร น้ำ และโป่ง ขณะมีการเคลื่อนย้ายโขลงลูกช้างจะถูกขนาบด้วยแม่และแม่รับเสมอ ส่วนตัวผู้จะเดินตามโขลงอยู่ห่างๆ ช้างมักยืนในร่มโบกหูไปมา ยามหลับจะโยกตัวช้าๆอย่างสม่ำเสมอ บางตัวอาจนอนตะแคงในช่วงเวลาสั้นๆ ช้างจะนอนในเวลากลางคืน ประมาณวันละ 4 ชั่วโมงเท่านั้น ช้างสามารถว่ายน้ำได้ ในอัตราเร็วประมาณ 1.6 กิโลเมตรต่อชั่วโมง และสามารถว่ายน้ำโดยที่เท้าไม่สัมผัสพื้นเลยได้ติดต่อกันนานกว่า 6 ชั่วโมง ช้างมักใช้โคลนหรือฝุ่นพ่นใส่ตัวเอง อาจเพื่อเป็นการป้องกันแมลงกัด โดยเฉพาะในฤดูฝน ช้างต้องการน้ำประมาณวันละ 200 ลิตร ในฤดูแล้งช้างสามารถหาน้ำกินโดยใช้เท้าและงวงขุดทรายท้องน้ำที่แห้งลงลึกประมาณ 50-100 เซนติเมตร ถ้าขุดลึก 30 เซนติเมตรแล้วทรายยังแห้งช้างจะเปลี่ยนที่ขุดใหม่ ช้างกินอาหารประมาณวันละมากกว่า 200 กิโลกรัม อาหารที่กิน ได้แก่ หญ้า ใบและต้นของกล้วยป่า หน่อไม้ ไผ่ ผลไม้และยอดไม้ โดยช้างมักจะหักกิ่งไม้จากยอดไม้ลงมากินและเหลือทิ้งไว้ ทำให้สัตว์อื่นๆ เช่น กวาง กระทิง วัวแดง ฯลฯ ช้างจะกินผลไม้ทุกชนิดที่หล่นตามพื้น หรืออาจใช้หัวดันต้นไม้ให้ลูกไม้ตกลงมา สัตว์กินพืชนั้นจะต้องการดินโป่งซึ่งประกอบด้วยโซเดียม แคลเซียม แมกนีเซียม และอื่นๆ ช้างก็เช่นกัน มักจะกินโป่งในช่วงที่ฝนตกเพราะดินอ่อนนุ่ม ในช่วงที่ฝนไม่ตก ช้างสามารถใช้งาขุดดินโป่ง ทำให้ดินโป่งร่วน ทำให้สัตว์อื่นสามารถเข้ามาอาศัยกินดินโป่งได้
การผสมพันธุ์
ช้างตัวผู้และตัวเมียที่โตเต็มวัยบางตัวที่มีอายุประมาณ 20-40 ปีจะมีช่วงการตกมัน ซึ่งเป็นช่วงที่ช้างมีร่างกายอ้วนท้วนสมบูรณ์ ช้างจะมีอาการหงุดหงิด ก้าวร้าว ก่อนเกิดอาการตกมัน ต่อมระหว่างตากับหูจะบวมขึ้นและมีน้ำมันไหลออกมา น้ำมันนี้มีกลิ่นฉุนเหม็นสาบรุนแรง ช้างตัวผู้มักมีการแข็งตัวของอวัยวะเพศ บางครั้งอาจมีน้ำเชื้อไหลออกมาด้วย 1-3 สัปดาห์หลังจากนั้นช้างจึงจะมีการก้าวร้าว เจ้าของช้างหรือควาญช้างมักลดปริมาณอาหารหรืองดอาหารเพื่อให้ช้างลดความอุดมสมบูณ์ของร่างกาย การตกมันมักจะเกิดขึ้นทุกปีในช่วงฤดูหนาว แต่ก็อาจเกิดช่วงฤดูร้อนได้ อาการจะคงอยู่ 2-3 สัปดาห์จึงสงบลง
                ตามปกติในรอบหนึ่งปีช้างจะผสมพันธุ์เฉพาะในช่วงฤดูหนาว โดยในช่วงฤดูหนาวช้างตัวเมียจะเป็นสัด (Heat) ส่วนช้างตัวผู้จะมีความรู้สึกทางเพศ ช้างตัวเมียที่เป็นสัดจะยอมให้ตัวผู้ขึ้นทับผสมพันธุ์ ช้างตัวเมียจะโตเต็มวัยพร้อมผสมพันธุ์และสิ้นสุดการสืบพันธุ์เมื่ออายุเท่าใดนั้นยังไม่มีผู้ศึกษาและบันทึกเป็นหลักฐานแน่นอน แต่มีการคาดคะเนว่าช้างตัวเมียจะโตเต็มวัยพร้อมผสมพันธุ์เมื่ออายุประมาณ 18-20 ปีขึ้นไป และสิ้นสุดความสามารถในการสืบพันธุ์เมื่ออายุประมาณ 40-50 ปีขึ้นไป ระยะการตั้งท้องนานประมาณ 19-21 เดือน ตามปกติช้างจะให้ลูกครั้งละ 1 ตัว (เชือก) การตั้งท้องแต่ละครั้งห่างกันอย่างน้อย 3 ปี และในช่วงชีวิตของช้างจะมีลูกได้เฉลี่ย 3-4 ตัว (เชือก) (Khan, 1969 ; Kondo, 1972 ; Lekagul and McNeely, 1977) จากการศึกษาในช้างเลี้ยงพบว่าพฤติกรรมการผสมพันธุ์ของช้างตัวผู้จะเกี้ยวพาราสีโดยเข้าไปคลอเคลียช้างตัวเมียที่เป็นสัด ใช้งวงดมและจับเต้านมและอวัยวะเพศของช้างตัวเมีย จากนั้นจึงขึ้นทับโดยใช้ 2 ขาหน้าขึ้นวางบนหลังช้างตัวเมียแล้วจึงสอดใส่อวัยวะเพศ การขึ้นทับสามารถทำได้ทุกเวลาทั้งเวลากลางวันและกลางคืนขึ้นอยู่กับโอกาสและความพอใจ ระยะเวลาในการผสมพันธุ์ตั้งแต่เกี้ยวพาราสีจนสอดใส่อวัยวะเพศได้สำเร็จประมาณ 20-40 นาที แต่การผสมพันธุ์ของช้างเกิดขึ้นไม่บ่อยนัก โอกาสที่จะเห็นการผสมพันธุ์ของช้างจึงมีน้อย ไม่น่าจะเนื่องจากความอายของช้างดังที่เข้าใจกัน ในขณะที่ช้างตั้งท้องนั้นท้องจะโป่งผิดปกติเพียงเล็กน้อย ดูเหมือนช้างอ้วนสมบูรณ์ขึ้นเท่านั้น การตั้งท้องของช้างอาจสังเกตได้จากอาการต่างๆ ดังนี้
  1. เต้านมคัดตึงผิดปกติ ยิ่งช้างท้องแก่อาจมีน้ำนมไหลซึมออกมาให้เห็น
  2. ถ้าเป็นช้างเลี้ยงมักจะเลี่ยงการทำงานหนัก และไม่ค่อยยอมหมอบตามคำสั่ง
  3. ช้างที่ท้องแก่มากจวนคลอดมักจะเดินแกว่งหางชี้ไปข้างหลังเป็นลักษณะครึ่งวงกลม เอ็นหน้าท้องระหว่างขาหน้าและโคนขาหลังจะหย่อนยานลง
                พฤติกรรมของช้างตัวเมียที่ตั้งท้องมักจะหาช้างตัวเมียที่สนิทกันมาช่วยดูแลเป็นพี่เลี้ยงในเวลาออกลูก เรียกว่า “ช้างแม่รับ” เมื่อช้างท้องแก่ก่อนคลอด 2-3 ชั่วโมง จะส่งเสียงร้องและมีน้ำคร่ำไหลออกจากอวัยวะสืบพันธุ์ ขณะคลอดลูกจะงอขาหลังลงทั้ง 2 ข้างเพื่อให้ลูกช้างตกลงสู่พื้นไม่สูงนัก การคลอดจะใช้เวลาประมาณ 2-3 นาที ลูกช้างที่คลอดออกมาใหม่ๆจะมีถุงบางใสหุ้มลำตัว ช้างแม่รับจะใช้เท้าหน้าและงวงฉีกถุงเยื่อหุ้มออกและป้องกันไม่ให้ลูกช้างเข้าไปหาแม่ช้าง อาจเนื่องจากแม่ช้างจะมีอาการเจ็บท้องรุนแรง ยังไม่ได้สติ อาจเผลอทำร้ายลูกได้ และช้างแม่รับจะช่วยแม่ช้างดูแลลูกช้างจนลูกช้างโตพอที่จะออกหากินเองได้
ลูกช้างแรกเกิดจะมีขนยาวปกคลุมทั่วร่างกาย งวงสั้น มีความยาวประมาณ 25-37.5 เซนติเมตร (10-15 นิ้ว) สูงประมาณ 75-90 เซนติเมตร (2.5-3 ฟุต) และมีน้ำหนักประมาณ 90-100 กิโลกรัม ลูกช้างจะกินนมแม่และอยู่กับแม่ตลอดเวลาจนกระทั่งอายุประมาณ 3 ปี
การกระจายพันธุ์
ช้างป่าเป็นสัตว์ที่มักอาศัยและหากินอยู่ไม่ไกลจากแหล่งน้ำ แหล่งน้ำจึงเป็นปัจจัยสำคัญที่กำหนดการกระจายพันธุ์ของช้างป่า ในช่วงที่มีไฟไหม้ป่าช้างอาจเข้าไปอาศัยอยู่ตามป่าที่มีความชื้น เช่น ป่าดิบแล้ง หรือ ป่าเบญจพรรณที่ค่อนข้างชื้น จากการศึกษาพบว่าช้างป่าในเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าห้วยขาแข้งอาศัยอยู่ในป่าเบญจพรรณ
เกือบตลอดทั้งปี คิดเป็น 46 %ของการใช้พื้นที่ป่าประเภทต่างๆ ในช่วงฤดูฝนช้างจะเข้าไปหากินในป่าเต็งรังด้วย เคยมีช้างป่าเข้ามาหากินในทางเดินศึกษาธรรมชาติเขาดินแดงบริเวณสำนักงานเขตฯและในลำห้วยแม่ดีน้อยบริเวณหน่วยพิทักษ์ป่าห้วยแม่ดี
ช้างเอเซียจำแนกได้ ชนิดย่อย (subspecies) ได้แก่
1. ช้างเอเซียพันธุ์ศรีลังกา (Elephas maximus maximus Linn) เป็นช้างที่มีอยู่ในป่าตามธรรมชาติเฉพาะในเกาะซีลอนหรือเกาะลังกา ซึ่งปัจจุบันเป็นประเทศศรีลังกาเท่านั้น มีขนาดใหญ่ที่สุดในบรรดาช้างเอเซียทั้งหมด ตัวผู้หรือช้างพลายส่วนใหญ่จะเป็นช้างสีดอ คือไม่มีงา มีแต่ขนายซึ่งเป็นงาขนาดเล็กโตประมาณเท่าข้อมือ (เส้นรอบวงประมาณ 15-20 เซนติเมตร) ยาวไม่พ้นปากหรืออาจยาวพ้นปากเพียงเล็กน้อย มีน้อยตัวที่มีงา ส่วนตัวเมียหรือช้างพังมีลักษณะเหมือนกับช้างเอเซียพันธุ์อื่นๆคือไม่มีงา มีแต่ขนายเท่านั้น
2. ช้างเอเซียพันธุ์อินเดีย (Elephas maximus indicus Cuvier) เป็นช้างที่อาศัยอยู่ในป่าตามธรรมชาติบนผืนแผ่นดินใหญ่ของทวีปเอเซีย ได้แก่ ประเทศเนปาล ภูฐาน อินเดีย พม่า ไทย ลาว เวียดนาม กัมพูชา แคว้นยูนนาน และมาเลเซีย สำหรับประเทศไทยพบกระจายอยู่ทั่วทุกภาคของประเทศ
3. ช้างเอเซียพันธุ์สุมาตรา (Elephas maximus sumatranus Temmick) เป็นช้างที่อาศัยอยู่เฉพาะในป่าตามธรรมชาติบนเกาะสุมาตรา ประเทศอินโดนีเซียเท่านั้น ขนาดร่างกายมักจะเล็กกว่าช้างเอเซียพันธุ์อินเดีย
                ในประเทศไทยเคยมีการค้นพบช้างแคระแต่ยังไม่มีการบันทึกว่าเป็นชนิดย่อยใด จากรายงานการค้นพบโดย Smyth (1898) พบในจังหวัดพัทลุง ช้างมีลักษณะสีผิวออกแดง สูงไม่เกิน 8 ฟุต หัวและเท้าเล็ก ไม่มีงา แต่ต่อมา Smith (1926) พบช้างแคระมีงา ในระยะ 200 เมตร บริเวณที่ Smyth เคยพบ และรายงานว่าช้างแคระมีการกระจายอยู่บริเวณเหนือทะเลสาบสงขลา ต่อมามีการเปลี่ยนแปลงพัฒนาพื้นที่เป็นนาข้าว ช้างแคระจึงสูญพันธุ์ไปจากพื้นที่

จระเข้น้ำจืด


สัตว์ป่าน่ารู้ จระเข้น้ำจืด
ลักษณะทั่วไป
จระเข้น้ำจืดตัวผู้มีขนาดเล็กกว่าตัวเมีย ซึ่งยาวประมาณ 12 ฟุต แต่ตัวผู้มีหางยาวกว่าตัวเมีย และมักมีจำนวนเกล็ดที่ห่างมากกว่า จระเข้น้ำจืดหัวทู่สั้นกว่าจระเข้น้ำเค็ม มีเกล็ดท้ายทอย 4 เกล็ดเรียงให้เห็นชัด เท้าหลังมีพังผืดเล็กน้อย หางจระเข้มีกำลังมากใช้โบกพัดไปมาช่วยในการว่ายน้ำ หรือเป็นอาวุธ สามารถฟาดหางทำให้คนหรือสัตว์ได้รับอันตรายได้ ปกติไม่ได้ใช้ขาในการว่ายน้ำ
อุปนิสัยและอาหาร
ชอบอยู่ตัวเดียว ตามแหล่งน้ำนิ่ง มีความลึกไม่เกิน 5 ฟุต และมีที่ร่ม ช่วงอากาศร้อนจะแช่ตัวในน้ำ ถ้าอากาศหนาวจะขึ้นมาผึ่งแดดบนบกในตอนกลางวันกินปลาเป็นอาหาร ถ้าอาหารมีขนาดใหญ่มันจะคาบอาหารแล้วเหวี่ยงไปมาทำให้อาหารขาดออกเป็นชิ้น ๆ อาหารจะถูกย่อยอย่างช้า ๆ ทำให้ไม่ต้องกินอาหารประมาณ 15-30 วัน จึงกินอีกครั้งหนึ่ง
การผสมพันธุ์
ปกติจระเข้จะมีการผสมพันธุ์ในฤดูหนาวราวเดือนธันวาคม-มกราคม จระเข้ตัวผู้จะส่งสัญญาณให้ตัวเมียรับรู้โดยการงับน้ำให้เกิดเสียงดัง เมื่อตัวเมียยินยอม ตัวผู้จะขึ้นไปขี่หลังพร้อมกับใช้หางกดรัดไม่ให้ตัวเมียดิ้น ใช้เวลาประมาณ 10-15 นาที แต่ถ้าในระหว่างนั้นมีเสียงดังหรือมีเหตุการณ์อื่นรบกวนให้ตกใจมันจะหยุดทันที
สถานภาพ
สัตว์ป่าคุ้มครอง ตามพระราชบัญญัติสงวนและคุ้มครองสัตว์ป่า พุทธศักราช 2535
ที่มา
หนังสือพืชและสัตว์ที่ใกล้จะสูญพันธุ์ในประเทศไทย โดย สถาบันวิจัยวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งประเทศไทย

วันอังคารที่ 26 สิงหาคม พ.ศ. 2557

อ้นเล็ก


สัตว์ป่าน่ารู้ อ้นเล็ก
ลักษณะทั่วไป
เป็นสัตว์ฟันแทะที่มรูปร่างอ้วนล่ำ แต่มีขนาดเล็กกว่าอ้นกลางและอ้นใหญ่
 มีขนหนานุ่มสีน้ำตาลแดงปกคลุมทั่วหัว ลำตัวและขา บางตัวมีแถบสีขาว
 คาดจากปลายจมูกถึงหน้าผาก แก้มมีสีน้ำตาลอ่อน หางสั้นและไม่มีขน
 ฝ่าตีนเรียบ ความยาวตั้งแต่ปลายจมูกถึงโคนหาง14.5 – 26.5 เซนติเมตร หางยาว 6 -7 เซนติเมตร
อุปนิสัยและอาหาร
มักจะพบเดินหากินอยู่บนพื้นดินโดยขุดรากและเหง้าของพืชเช่น ไผ่ ออกหากินในตอนกลางคืน
มันจะเดินเชื่องช้า และเตาะแตะ มากเมื่ออยู่บนพื้นดิน แต่มันสามารถขุดดินได้อย่างคล่องแคล่ว
ด้วยฟันหน้า ขาหน้า และอุ้งเล็บตะกรุยดินเพื่อขุดรู มักจะพบเห็นว่ามันอาศัยอยู่อย่างโดดเดี่ยว
หรืออาจจะออกหากินกับลูกของมัน ส่วนมากจะอาศัยอยู่ในโพรงใต้ผิวดินบริเวณ
พื้นที่ภูเขาที่มีไผ่ขึ้นอยู่หนาแน่น
การผสมพันธุ์
มักจะพบอ้นเล็กตั้งท้องในช่วงเดือนพฤษจิกายน-ธันวาคม และเดือน มีนาคม-กรกฏาคม
แต่จะพบมากสุดใน ฤดูใบไม้ผลิ
การกระจายพันธุ์
เนปาล อัสสัม พม่า ไทย กัมพูชา
สถานภาพปัจจุบัน
สัตว์ป่าคุ้มครอง ตามพระราชบัญญัติสงวนและคุ้มครองสัตว์ป่า พุทธศักราช 2535
ประโยชน์ทางเศรษฐกิจ
ถูกมนุษย์ล่าเพื่อนำไปขายหรือเป็นสัตว์เลี้ยง

งูแสงอาทิตย์, งูเหลือมดิน


สัตว์ป่าน่ารู้  งูแสงอาทิตย์, งูเหลือมดิน
ลักษณะทั่วไป
ความยาว 1.25 เมตร หัวแบนคล้ายสิ่ว ขนาดหัวไม่ต่างจากคอและลำตัว ลักษณะเด่นคือเกล็ดเรียบเป็นมันวาว สะท้อนแสงคล้ายมีน้ำมันเคลือบ หลังสีดำ ท้องขาว แรกเกิดรอบคอมีสีขาว สูตรเกล็ด 15-15-15 เกล็ดทวารและเกล็ดใต้หางเป็นเกล็ดคู่ เกล็ดหางตา 2 เกล็ด เกล็ดริมฝีปากบน 8 เกล็ด หางเรียว ไม่มีพิษ 

ถิ่นที่อยู่อาศัย
อาศัยบนพื้นดิน หรือใต้ดิน หากินเวลากลางคืน เหยื่อได้แก่ หนู นก สัตว์เลื้อยคลาน สัตว์สะเทินน้ำสะเทินบก และงูที่ตัวเล็กกว่า ออกลูกเป็นไข่ ครั้งละ 6-17 ฟอง
สถานภาพ
เป็นสัตว์ป่าคุ้มครอง ตามพระราชบัญญัติสงวนและคุ้มครองสัตว์ป่า พ.ศ. 2535
การแพร่กระจ่าย
พบในประเทศจีนตอนใต้ และเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ส่วนในประเทศไทยพบทั่วประเทศ

จิ้งจกนิ้วยาวมลายู


สัตว์ป่าน่ารู้ จิ้งจกนิ้วยาวมลายู
ลักษณะทั่วไป
ความยาวจากหัวถึงก้น 10 เซนติเมตร ความยาวจากหัวถึงปลายหาง 25 เซนติเมตร หน้าค่อนข้างสั้น มีหนามเหนือตา และเหนือแผ่นหู มีแผงหนามบนคอ และตามแนวสันหลัง โดยเว้นช่วงหลังคอ ลักษณะเด่นคือมีลายแถบสีดำรูปทรงคล้ายเพชรบริเวณคอ ที่เป็นช่องว่างระหว่างแผงหนาม ลำตัวมักมีสีน้ำตาล เทา หรือดำ สามารถเปลี่ยนสีและลวดลายได้ตามสภาพแวดล้อมและอารมณ์
ถิ่นที่อยู่อาศัย
อาศัยตามใต้ก้อนหิน หรือตามพูพอนของต้นไม้ใหญ่ ใกล้ลำธารในป่าดิบชื้น หากินทั้งเวลากลางวันและกลางคืน เมื่อถูกรบกวนจะหลบซ่อนตามหลืบรอยแตกของหิน 
สถานภาพ
เป็นสัตว์ป่าคุ้มครอง ตามพระราชบัญญัติสงวนและคุ้มครองสัตว์ป่า พ.ศ. 2535
การแพร่กระจ่าย
พบในประเทศมาเลเซีย ส่วนในประเทศไทยพบที่จังหวัดปัตตานี

แม่นใหญ่


สัตว์ป่าน่ารู้ แม่นใหญ่
ลักษณะทั่วไป
ความยาวลำตัว 65 – 73.5 เซนติเมตร หางยาว 6 – 11.5 เซนติเมตร เป็นเม่นขนาดใหญ่ ที่มีแผงบนคอค่อนข้างสั้น รูปร่างหัวโดยเฉพาะส่วนหน้าและจมูกค่อนข้างยาว ลำตัวมีขนปกคลุมอยู่3แบบคือ ลักษณะขนอ่อนหยาบสีน้ำตาล ขึ้นปกคลุมใบหน้า ใต้คอและท้อง ลักษณะขนหยาบยาวมีสีดำเข้ม ขึ้นปกคลุมด้านข้างลำคอ สันคอไปจนถึงตอนบนของหลัง ลักษณะขนหนามแข็ง ขึ้นตั้งแต่กลางหลังไปจนถึงหาง ยาวตั้งแต่ 5- 30 เซนติเมตร ตัวเต็มวัยอาจมีน้ำหนักถึง 27 กิโลกรัมเม่นใหญ่แผงคอสั้นมีหนวดสีดำยาวประมาณ 10 – 20 เซนติเมตรช่วยในการรับความรู้สึก
อุปนิสัยและอาหาร
เม่นจะออกหากินในเวลากลางคืนส่วนกลางวันจะอาศัยอยู่ในโพรงที่มันขุดขึ้นมาเองเพื่อพักผ่อน และมักจะนำเอากระดูกหรือเขาสัตว์เข้าไปแทะในโพรงนั้นไม่ใช่เพื่อเป็นอาหารเพียงอย่างเดียว แต่หากเพื่อเป็นการลับฟันหน้าที่งอกยาวมาตลอดช่วงอายุไม่ให้ยาวเกินไปอีกด้วย เม่นใหญ่ไม่สามารถสบัดขนที่แข็งและแหลมของมันออกได้เองตามที่เคยเข้าใจกัน เมื่อพบศัตรูเม่นใหญ่จะ กระทืบเท้า ตั้งขนชันขึ้น และแกว่งหางทำให้เกิดเสียงดัง ถ้าไม่สำเร็จมันก็จะหนีไปด้วยความรวดเร็วหากศัตรูวิ่งตามมันจะหยุดกระทันหันแล้วถอยหลังเพื่อให้ขนปักที่ศัตรู เม่นใหญ่จะกินพวก ผลไม้ตามพื้น รากไม้ หน่อไม้ รวมทั้งกระดูกหรือเขาสัตว์เพื่อเป็นอาหารเสริม
การผสมพันธุ์
เม่นใหญ่แผงคอยาวเริ่มผสมพันธุ์ได้เมื่อมีอายุ 2 ปี ระยะตั้งท้องนาน 4 เดือน ออกลูกครั้งละ 2-3 ตัว
การกระจายพันธุ์
พบใน ไทย มาเลเซีย สิงคโปร์ สุมาตรา บอร์เนียว พบในป่าทุกชนิด อาศัยตามโพรงดิน ซอกหินตามป่า
สถานภาพปัจจุบัน
เป็นสัตว์ป่าคุ้มครอง ตามพระราชบัญญัติสงวนและคุ้มครองสัตว์ป่า พุทธศักราช 2535
IUCN : มีแนวโน้มจะสูญพันธุ์
ประโยชน์ทางเศรษฐกิจ
ชาวบ้านในบางท้องถิ่นนิยมบริโภค ขนใช้ทำเป็นของที่ระลึก

ค่างหงอก


สัตว์ป่าน่ารู้ ค่างหงอก
ลักษณะทั่วไป
ขนส่วนด้านหลังของลำตัวมีสีเข้มเป็นสีเทาดำ แต่ปลายขนสีขาวจึงทำให้มองดูคล้ายสีเทาเหลือบเงิน ส่วนด้านหน้าของลำตัวคืออก ท้องและขาขนมีสีเทาอ่อน ที่หัวมีขนแหลมตรงกลางพุ่งขึ้น ขนด้านข้างของหน้ายาวพุ่งตรงออกด้านข้าง ใบหน้าและมือเท้าสีเทาดำ ไม่มีวงตาขาว ปากบาง ผิวหนังบางส่วนเช่นโคนขาด้านในด่างขาว ลูกค่างเกิดใหม่จะมีขนสีขาวที่หลังมือ,เท้า และตามร่างกาย น้ำหนักตัวประมาณ 6.8 กิโลกรัม ความยาวลำตัวประมาณ 493-570 มิลลิเมตร หางยาว 725-840 มิลลิเมตร
อุปนิสัยและอาหาร
อาศัยในป่าทึบและป่าดงดิบทั่วไป ชอบอาศัยอยู่บนต้นไม้สูงๆ อาศัยอยู่เป็นฝูง ๆ ละ 10-40 ตัว ค่างเทาที่อายุมากแล้วมักแยกตัวไปอยู่โดดเดี่ยว ไม่รวมฝูงอยู่ด้วยกัน หากินตอนกลางวัน ส่วนใหญ่หากินบนต้นไม้ มีการใช้เสียงแตกต่างกันหลายระดับในการสื่อความหมาย แม้ว่าค่างเป็นสัตว์สังคมแต่ในฝูงจะมีการจัดลำดับชั้นทางสังคมกันน้อย
การผสมพันธุ์
ค่างเทาเริ่มผสมพันธุ์ได้เมื่ออายุ 3-4 ปี ระยะตั้ง ท้องนาน 196 วัน ออกลูกครั้งละ 1 ตัว
การกระจายพันธุ์
พบในพม่า ไทย กัมพูชา ลาว เวียดนาม มาเลเซีย อินโดนีเซีย ประเทศไทยมีตามป่าดงดิบทุกภาค อาหารได้แก่ ใบไม้และตาอ่อนของพืช แมลงต่างๆ
สถานภาพปัจจุบัน
เป็นสัตว์ป่าคุ้มครอง ตามพระราชบัญญัติสงวนและคุ้มครองสัตว์ป่า พุทธศักราช 2535
ประโยชน์ทางเศรษฐกิจ
ถูกล่าเป็นอาหาร ส่วนเลือดมีความเชื่อว่าเป็นยาบำรุง หนังสามารถนำมาเป็นเครื่องประดับ

ไก่ฟ้าสีทอง


"ไก่ฟ้าสีทอง" สัตว์เลี้ยงเศรษฐี
ปัจจุบันไก่ฟ้ากลายเป็นสัตว์เศรษฐกิจตัวใหม่หลังจาก สพภ. เข้ามาส่งเสริมการเพาะเลี้ยงในเชิงพาณิชย์ ทั้งนี้ หลังมีการประกาศตามกรอบเจตนารมณ์ของ พ.ร.บ. สงวนและคุ้มครองสัตว์ป่า 2535 กำหนดให้ไก่ฟ้าเป็นหนึ่งในสัตว์คุ้มครองที่สามารถนำมาเพาะเลี้ยงในเชิงพาณิชย์ได้นอกจากนี้ ใครที่สนใจจะเลี้ยงสามารถหาซื้อได้จากส่วนราชการ(กรมอุทยานแห่งชาติฯ) หรือภาคเอกชนที่ได้รับอนุญาตอย่างถูกต้องตามกฎหมาย

นกกระเบื้องผา


สัตว์ป่าน่ารู้ นกกระเบื้องผา
ลักษณะทั่วไป
เป็นนกที่มีขนาดเล็ก (23 เซนติเมตร) ตัวผู้จะมีตั้งแต่สีน้ำเงินทั้งตัว จนถึงมีสีน้ำเงินบริเวณท้อง ขนคลุมโคนขนหางด้านล่าง และขนปีกด้านล่างเป็นสีน้ำตาลแดง มีลายเกล็ดสีขาว และดำตามส่วนต่าง ๆ ของร่างกายรวมทั้งท้อง และจะเด่นชัดมากในช่วงนอกฤดูผสมพันธุ์ ตัวเมียแตกต่างจากตัวเมียนกกระเบื้องอื่น ๆ โดยจะมีสีน้ำเงินทางด้านบนลำตัว บางครั้งก็มีทางด้านล่างลำตัวด้วย ตัวไม่เต็มวัยลักษณะคล้ายตัวเมีย แต่ลายเกล็ดสีขาวและดำด้านบนลำตัวจะเด่นชัดกว่า

อุปนิสัยและอาหาร
            เป็นนกที่พบได้ทั่วไป ไม่ว่าทุ่งโล่ง ป่าโปร่ง หน้าผา เขาหินปูน และแหล่งกสิกรรมต่าง ๆ มักพบโดดเดี่ยว หรือเป็นคู่ มักเกาะตามกิ่งไม้ใหญ่ ก้อนหิน หลังคาบ้าน หรือสิ่งก่อสร้างต่าง ๆ โดยจะเกาะในลักษณะตัวตั้ง หางชี้ลง ๆ ไปข้างล่าง ซึ่งแตกต่างจากนกทั่ว ๆ ไป ที่ทั้งลำตัวและหางมักจะขนานหรือเกือบขนานกับพื้นราบเสมอเป็นนกที่มักอาศัย และหากินในแหล่งเดิมเสมอ ๆ ในการอพยพมาแต่ละปีไม่ค่อยเปลี่ยนสถานที่ หากินส่วนใหญ่ตามพื้นดิน โดยกินแมลง ตัวหนอน และผลไม้ต่าง ๆ บางครั้งก็พบโฉบจับแมลงกลางอากาศใกล้ ๆ กับที่เกาะ
การผสมพันธุ์
            ชนิดย่อย madoci ทำรังวางไข่ในบริเวณภาคใต้ของประเทศไทย แต่ยังไม่ทราบรายละเอียดมากนัก
สถานภาพ
            สัตว์ป่าคุ้มครอง
ที่มา
            หนังสือชุดนกในเมืองไทย โดย รศ.โอภาส ขอบเขตต์ 

นกกาบบัว


สัตว์ป่าน่ารู้ นกกาบบัว
ลักษณะทั่วไป
เป็นนกขนาดใหญ่มาก (100-102 เซนติเมตร) ปากยาว ปลายปากมักมนและโค้งเล็กน้อย หัวเล็ก คอค่อนข้างยาว ปีกกว้างและยาว หางสั้น ขายาว ทั้งสองเพศมีลักษณะและสีเหมือนกัน ตัวเต็มวัยปากสีเหลือง ลำตัวสีขาว บริเวณปีกมีแถบสีขาวสลับดำ อกและปลายหางมีแถบสีดำ ขนโคนปีก ขนคลุมขนปีกแถวนอก และขนบริเวณตะโพกเป็นสีชมพู ขาและนิ้วสีน้ำตาลหรือสีแดง ตัวไม่เต็มวัยหัวและคอสีน้ำตาลขนคลุมขนปีกแถวนอกสีเนื้อตัดกับสีดำของขนปลายปีกและสีน้ำตาลเข้มของขนคลุมขนปีกแถวกลางและแถวใน 
บริเวณหลังสีน้ำตาลซีด ตะโพกและขนคลุมโคนขนหางด้านบนสีขาว อกสีเทาอ่อน ท้องและขนคลุมโคนขนหางด้านล่างสีขาว ขนคลุมขนปีกด้านล่างสีออกดำ หางสีดำ
อุปนิสัยและอาหาร
มีกิจกรรมในเวลากลางวัน ปกติอาศัยและหากินเป็นฝูงตามแหล่งน้ำ เช่น หนอง บึง ทะเลสาบ เป็นต้น สามารถบินได้ดี ขณะบินหัวและลำคอเหยียดตรงไปข้างหน้า ขาและนิ้วเหยียดไปข้างหลังพ้นปลายหาง บางครั้งจะร่อนเป็นวงกลมกลางอากาศเหนือรังและแหล่งหากินในระดับที่สูงมาก สามารถเกาะกิ่งไม้ได้ดี เวลาหากินจะลงมายังพื้นดินอาหาร ได้แก่ ปลา ปู กุ้ง หอย นอกจากนี้ยังกินแมลงและตัวหนอนของแมลง
การผสมพันธุ์
ผสมพันธุ์ในช่วงฤดูหนาวต่อฤดูร้อนระหว่างเดือนกุมภาพันธ์ ถึง เดือนเมษายน
สถานภาพ
Lekagul and Round (1991) จัดเป็นนกที่อพยพมาทำรังวางไข่ในประเทศไทย บางส่วนเป็นนกอพยพมาช่วงนอกฤดูผสมพันธุ์ และเป็นนกที่อพยพผ่านประเทศไทย
ที่มา
หนังสือชุด นกในเมืองไทย เล่ม 3 โดย รศ.โอภาส ขอบเขตต์

นกเขียวปากงุ้ม

สัตว์ป่าน่ารู้ นกเขียวปากงุ้ม
ลักษณะทั่วไป
เป็นนกขนาดเล็ก (17-18 เซนติเมตร) ลำตัวสีเขียว มีลายแถบสีดำบริเวณปีกและบริเวณหู ตัวเมียสีเขียวจางกว่าตัวผู้ ไม่มีลายแถบสีดำที่ปีกและบริเวณหู หางค่อนข้างสั้น ขากรรไกรบนสีดำ ขากรรไกรล่างสีเขียว มีขนคลุมเกือบถึงปลายปาก
อุปนิสัยและอาหาร
อาศัยอยู่ตามป่าดงดิบชื้นตั้งแต่พื้นราบจนกระทั่งความสูงไม่เกิน 800 เมตรจากระดับน้ำทะเล 
เป็นนกที่ค่อนข้างสงบเงียบ เมื่อประกอบกับสีสันที่กลมกลืนกับสีใบไม้ จึงทำให้มองเห็นตัวได้ยาก มักพบเกาะตามกิ่งไม้หรือยอดไม้ แต่ก็เป็นนกที่บินได้ดี อาหารได้แก่ แมลงและตัวหนอนโดยการจิกกินตามกิ่งไม้หรือยอดไม้ และอาจบินโฉบจับกลางอากาศเหนือยอดไม้กับที่เกาะ นอกจากนี้ยังทราบว่ากินผลไม้บางชนิดด้วย
การผสมพันธุ์
ผสมพันธุ์ในช่วงฤดูร้อนต่อฤดูฝนระหว่างเดือนมีนาคมถึงเดือนพฤษภาคม รังเป็นรูปบวบ มีทางเข้าออกอยู่ทางด้านข้าง แขวนอยู่ตามกิ่งไม้ในระดับสูงปานกลาง รังมีไข่ 2-3 ฟอง ไข่สีขาวครีม มีลายแต้มสีน้ำตาลอ่อนเล็กน้อย ทั้งสองเพศช่วยกันทำรัง ฟักไข่ และช่วยกันเลี้ยงดูลูกอ่อน ใช้เวลาฟักไข่ประมาณ 12-13 วัน
สถานภาพ
ยังไม่ได้รับการจัดให้เป็นสัตว์ป่าสงวนหรือสัตว์ป่าคุ้มครอง เนื่องจากกฎหมายระบุเพียง “นกพญาปากกว้างทุกชนิดเป็นสัตว์ป่าคุ้มครอง” นกเขียวปากงุ้มแม้จะเป็นนกพญาปากกว้างชนิดหนึ่ง แต่ไม่มีชื่อระบุไว้โดยเฉพาะ จึงยังไม่ได้รับการคุ้มครองแต่อย่างใด จำเป็นต้องได้รับการแก้ไขเพราะโดยเจตนาแล้ว กฎหมายต้องการคุ้มครองนกชนิดในวงศ์นี้ ซึ่งรวมถึงนกเขียวปากงุ้มด้วย
ที่มา
หนังสือชุดนกในเมืองไทย เล่ม 4 โดย รศ. โอภาส ขอบเขตต์ 

กระแตเหนือ


สัตว์ป่าน่ารู้ กระแตเหนือ
ลักษณะทั่วไป
มีจมูกที่ยาว มีฟันขนาดเล็กถี่ๆ ถูกเข้าใจผิดว่าเป็นวงศ์เดียวกับกระรอกแต่ถูกจัดให้เป็นสัตว์ใน order ใหม่ คือ scandentia   มีความคล้ายคลึงกับกระแตใต้มาก แต่จุดต่างที่เห็นได้ชัดเจนคือลักษณะใบหู กล่าวคือ จะมีปลายใบหูที่แหลมกว่ากระแตใต้
อุปนิสัยและอาหาร
จะออกหากินในตอนกลางวัน เป็นสัตว์ที่ชอบอาศัยอยู่บนต้นไม้ ( arboreal )
มากกว่าพื้นดิน เป็นสัตว์หวงถิ่น ทั้งสองเพศจะใช้ต่อมกลิ่นทำเครื่องหมายบอกอาณาเขต   กินทั้งผลไม้ และ สัตว์ที่ไม่มีกระดูกสันหลังเป็นอาหาร
การผสมพันธุ์
โดยทั่วไปกระแตจะผสมพันธ์ ได้ตลอดปีแต่กระแตส่วนมากจะเริ่มผสมพันธุ์ตั้งแต่เดือนกุมภาพันธ์และมิถุนายน
การกระจายพันธุ์
พบได้เฉพาะประเทศในแถบอินโดมาลายัน โดยเฉพาะในประเทศไทย ( endermic species ) ตั้งแต่บริเวณคอคอดกระขึ้นไป
สถานภาพปัจจุบัน
เป็นสัตว์ป่าคุ้มครอง ตามพระราชบัญญัติสงวนและคุ้มครองสัตว์ป่า พุทธศักราช 2535
ประโยชน์ทางเศรษฐกิจ
ปัจจุบันกระแตถูกล่าเพื่อนำไปขายเป็นสัตว์เลี้ยง หรือถูกนำไปประกอบอาหาร

งูทางมะพร้าวดำ



สัตว์ป่าน่ารู้ งูทางมะพร้าวดำ
ลักษณะทั่วไป
ความยาวจากหัวถึงปลายหางประมาณ 2 เมตร หัวสีน้ำตาลเทา ปากสีงาช้าง มีลายเส้นสีดำเส้นหนึ่งลากจากใต้ตาไปยังระหว่างเกล็ดริมฝีปากบนเกล็ดที่ 5 และ 6 เส้นสีดำ อีกเส้นหนึ่งลากจากหางตาไปยังเกล็ดริมฝีปากบนเกล็ดที่ 8 และเส้นสีดำจากโคนขากรรไกรไปยังคอ ท้องสีขาวหม่น ลำตัวส่วนหน้า บริเวณกลางหลังมีสีส้มเหลือง ขนาบด้วยเส้นสีดำ โดยเส้นสีดำเริ่มบริเวณลำตัวส่วนต้น ไม่ได้เริ่มที่คอ มีจุดสีดำบนพื้นสีน้ำตาลเหลืองตามขอบเกล็ดท้องส่วนต้นของลำตัว
ลำตัวส่วนท้ายสีดำ เกล็ดตัวเป็นเกล็ดสัน เกล็ดกลางตัว 19 แถว เกล็ดหัวตา 1 คู่ เกล็ดหางตา 2 คู่ เกล็ดระหว่างเกล็ดจมูกกับเกล็ดหัวตา 1 คู่ เกล็ดริมฝีปากบน 9 คู่ ตำแหน่งเกล็ดที่ 4, 5 และ 6 อยู่ติดกับตา เกล็ดทวารเดี่ยว เกล็ดใต้หางคู่ ไม่มีพิษ
ถิ่นที่อยู่อาศัย
อาศัยอยู่ตามพื้นในป่าดิบชื้น หากินเวลากลางวัน วางไข่ครั้งละ 5-12 ฟอง ระยะฟักไข่นาน 15 สัปดาห์
สถานภาพ
เป็นสัตว์ป่าคุ้มครอง ตามพระราชบัญญัติสงวนและคุ้มครองสัตว์ป่า พ.ศ. 2535
การแพร่กระจ่าย
พบในประเทศพม่า มาเลเซีย อินโดนีเซียตะวันตกและหมู่เกาะอันดามันของอินเดีย ส่วนในประเทศไทยพบทางภาคใต้ ตั้งแต่ภูเก็ตจนถึงชายแดนมาเลเซีย ที่สูงกว่าระดับน้ำทะเล 490 เมตร และมีรายงานการพบที่จังหวัดนครราชสีมา

นกกระเบื้องท้องแดง

นกกระเบื้องท้องแดง 
ลักษณะทั่วไป
เป็นนกที่มีขนาดเล็ก (25 เซนติเมตร) ตัวผู้แตกต่างจากตัวผู้นกกระเบื้องผาชนิดย่อยที่มีท้องเป็นสีน้ำตาลแดง โดยด้านบนลำตัวเป็นสีน้ำเงินมากกว่า อกสีออกแดงเช่นเดียวกับท้องและขนคลุมโคนขนหางด้านล่าง ไม่มีลายเกล็ดบนหางที่มีสีน้ำเงิน ด้านบนลำตัวและคอหอยจะเป็นลายเกล็ด สีเหลืองช่วงนอกฤดูผสมพันธุ์ ตัวเมียแตกต่างจากตัวเมียนกกระเบื้องอื่น ๆ โดยมีลายพาดสี เหลืองบริเวณหลังขนบริเวณหู แตกต่างจากตัวเมียนกกระเบื้องผาโดยมีลายขีดสีเหลือง หรือขาวบริเวณตรงกลางคอหอย ไม่มีสีน้ำเงินไม่ว่าจะเป็นส่วนใด ๆ ของร่างกาย

 อุปนิสัยและอาหาร
เป็นนกที่พบตามป่าดงดิบแล้ง ป่าดงดิบเขา และป่าละเมาะในความสูง 1,200 เมตร จากระดับน้ำทะเลขึ้นไป จนกระทั่งยอดเขาสูงสุด อาจพบโดดเดี่ยว หรือเป็นคู่ มักเกาะในลักษณะตัวตั้ง บริเวณพุ่มไม้ ต้นไม้ 
หรือบนก้อนหิน หากินส่วนใหญ่ตามพื้นดิน บางครั้งก็บินโฉบจับแมลงกลางอากาศแล้วกลับมาเกาะที่เดิม ลักษณะคล้ายกับพวกนกแซงแซว อาหารได้แก่แมลงต่างๆ นอกจากนี้ก็ยังกินผลไม้สุกที่ร่วงหล่นตามพื้นดินบางชนิดอีกด้วย
การผสมพันธุ์
ไม่มีรายงานการทำรังวางไข่ในประเทศไทย
สถานภาพ
สัตว์ป่าคุ้มครอง
ที่มา
หนังสือชุดนกในเมืองไทย โดย รศ.โอภาส ขอบเขตต์